จาก “วัดทับกระดาน” มาสู่ ”วัดพุ่มพวง”

วัดทับกระดาน ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนที่ทุกคนจะเรียกกันติดปากว่า วัดพุ่มพวง วัดนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2473 เดิมชื่อ สำนักสงฆ์ทัพกันดาร ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น วัดทับกระดาน จนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2497 มีหลวงพ่อบวช ตุลายโก เป็นเจ้าอาวาสวัดทับกระดาน ซึ่งพอถึงปี พ.ศ. 2522 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครู ชั้นสัญญาบัตร สมณศักดิ์ของท่าน คือ “พระครูสุธรรมรัต” หลวงพ่อบวชเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านทับกระดานและหมู่บ้านใกล้เคียงมาก จนท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ.2535

หนึ่งในผู้ศรัทธาหลวงพ่ออย่างมากก็คือ ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่เติบโตและมาทำบุญที่วัดทับกระดานตั้งแต่เด็ก และเคยมาขอพรให้ได้เป็นนักร้องดังที่นี่ และถือเป็นจุดเชื่อมโยงที่ทำให้วัดทับกระดาน เป็นที่รู้จักอีกชื่อว่าวัดพุ่มพวงในภายหลัง

เส้นทางชีวิตของ “รำพึง จิตรหาญ” หรือชื่อจริงของราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ยากลำบากตั้งแต่เด็ก ต้องใช้ความมานะบากบั่นเรื่อยมากว่าจะได้รับการยอมรับเป็นราชินีลูกทุ่งคนแรกของไทยก็ว่าได้

เริ่มจากบ้านนอกไปอาศัยอยู่กังวงดนตรี เป็นนักร้องฝึกหัด ก่อนจะค่อย ๆ เป็นนักร้องวงดนตรีลูกทุ่ง ใช้ชื่ออื่น ๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็น น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย, น้ำผึ้ง สกุณี, น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ กว่าจะมีวงดนตรีของตัวเอง และประสบความสำเร็จโด่งดังเป็นราชินีลูกทุ่งที่คนรู้จักทั้งประเทศและยังคงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงทุกวันนี้อย่างไม่มีนักร้องลูกทุ่งคนไหนขึ้นมาแทนที่ได้เต็มร้อย ในชื่อ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และแม้จะลาจากโลกนี้ไปแล้วหลายสิบปี 

ความสามารถ ชื่อเสียงและความสำเร็จของพุ่มพวง คือสิ่งที่แฟน ๆ รวมทั้งคนที่มีโอกาสได้รู้จักให้ความชื่นชม โดยเฉพาะความไม่ย่อท้อต่อความลำบาก และไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ที่เกิดมายากจน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเพราะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่เด็ก อีกทั้งมีน้องอีกหลายคนที่ต้องช่วยพ่อแม่ส่งเสียเลี้ยงดู ทำให้เธอต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงานตามฝัน เป็นผลให้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ก็อาศัยความมุ่งมั่น ใช้สมองจดจำเนื้อเพลง ทำนอง บวกกับพรสวรรค์ด้านเสียงร้อง การเต้น จนกลายเป็นนักร้องดังได้ดังตั้งใจ แม้จะต้องใช้ความอดทนพยายามมากกว่าคนทั่วไปไม่รู้กี่เท่า กระทั่งล้มป่วยด้วยโรคเอสแอลอี หรือภูมิแพ้ตัวเอง ที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อโรคพุ่มพวง จนจากไปไม่กลับเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ขณะที่มีอายุเพียง 31 ปี สร้างความอาลัยต่อแฟนเพลงมากมาย

เล่ากันว่าพุ่มพวงได้เข้าฝันแม่ให้นำร่างของตนมาเผาและเก็บอัฐิที่วัดทับกระดานนี้ ทั้งยังได้เข้าฝันเจ้าอาวาสและไวยาวัจกรของวัดให้สร้างหุ่นดินให้ด้วย

ต่อมาไวยาวัจกรจึงสร้างหุ่นพุ่มพวงโดยบรรจุอัฐิส่วนหนึ่งของพุ่มพวงเอาไว้ในหุ่น พร้อมสร้างศาลพุ่มพวงไว้ในบริเวณวัดทับกระดาน

นับจากนั้น มีข่าวออกมาแทบทุกปี ถึงความศักดิสิทธิ์ของหุ่นพุ่มพวงว่าขอสิ่งใดก็สมปรารถนา โดยเฉพาะการให้โชคเรื่องหวย จนวัดทับกระดานกลายเป็นวัดที่ดึงดูดทั้งแฟนคลับพุ่มพวง และนักเล่นหวยให้มาเยี่ยมเยียน

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนที่ชื่นชมเมื่อได้รู้จักเธอจากประวัติ ยังคงแวะมาเยี่ยมเยียนแสดงความเคารพระลึกถึงอดีตราชินีเพลงลูกทุ่งที่วัดทับกระดานอยู่ไม่ขาดสายเช่นกัน

กระทั่งปัจจุบันนี้ ที่วัดทับกระดาน มีหุ่นพุ่มพวง ถึง 5 ตัว ได้แก่

ตัวแรก หุ่นอภินิหาร สวมชุดสีแดง ปั้นด้วยปูนปั้นบรรจุเถ้ากระดูกของพุ่มพวงอยู่ด้วย ได้ชื่อว่าเป็นหุ่นอภินิหาร ขอได้ทุกอย่างดังใจปรารถนา ตั้งอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ      

ตัวที่สอง หุ่นศิลปินก้าวหน้า ในชุดสีเขียว ยุ้ย ญาติเยอะเป็นคนสร้างอุทิศ ส่วนคนที่มาขอกับหุ่นตัวนี้จะเป็นศิลปิน ดารา นักร้อง ตั้งอยู่ที่ศาลาสุธรรมรัตราษฎร์บำรุง

ตัวที่สาม หุ่นคลายทุกข์ สวมชุดตอนที่ร้องเพลงส้มตำ บริษัทท้อปไลน์เป็นผู้สร้างให้ เป็นหุ่นสำหรับขอพรเกี่ยวกับเรื่องทุกข์ยากลำบากใจ ตั้งอยู่ที่ศาลาทรงไทยจัตุรมุข

ตัวที่สี่ หุ่นปลดหนี้ เป็นหุ่นนางพญาเสือดาวพุ่มพวง ดวงจันทร์ ผู้ที่มีหนี้มาขอพรจะหมดหนี้ ตั้งอยู่ที่ศาลาสุธรรมรัตราษฎร์บำรุงตัวที่ห้า หุ่นสมหวัง เป็นหุ่นที่คนมาขอดลบันดาลให้สมหวังดังใจ

ขอทิ้งท้ายเพื่อระลึกถึงอดีตราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ด้วยบทเพลง นักร้องบ้านนอก  “เมื่อสุริยนต์ ย่ำสนธยา หมู่นกกาก็บินมาสู่รัง……..” เชื่อว่าบทเพลงบทนี้ ยังคงก้องอยู่ในหัวใจแฟนเพลงไม่รู้ลืมอย่างแน่นอน

*ช่วง 13 มิถุนายน ของทุกปี ทางวัดทับกระดาน จะมีการจัดงานรำลึกถึงพุ่มพวงอยู่เรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา

สถานที่ต่าง ๆ ภายในวัดเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 035 530-113

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.