เที่ยวเมืองรอง ท่องเมืองสตูล

เมื่อ ททท. ส่งเสริมการท่องเที่ยวมากมาย โปรโมทแหล่งท่องเที่ยวทั้งเมืองหลัก เมืองรอง ที่มีเรื่องราว สินค้าท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สามารถสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา ให้มาสัมผัสวิถีชีวิตและมุมมองใหม่ที่เราสามารถเลือกสัมผัสและออกแบบความสุขจากการเดินทางท่องเที่ยวไทยได้ในแบบที่เราต้องการ เพื่อเข้าถึงคุณค่าของท้องถิ่น และยังช่วยเพิ่มมูลค่าของวิถีไทย สนับสนุนการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ครั้งนี้เราเลยเลือกมาเที่ยวเมืองรองที่จังหวัดสตูลกัน พูดถึงสตูล คนส่วนใหญ่คงนึกถึงเกาะหลีเป๊ะ เป็นหลัก แต่คราวนี้เราจะไปเที่ยว Satun UNESCO Global Geopark หรือ อุทยานธรณีสตูล ซึ่งได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศในเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 และทางยูเนสโกได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่มาทำการประเมินในปี 2560 และทางยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานธรณีสตูล เป็นอุทยานธรณีโลก หรือ Satun UNESCO Global Geopark แห่งแรกของประเทศไทย ทั้งยังเป็นอุทยานธรณีโลกประเทศที่ 36 ของโลก เป็นแหล่งที่ 5 ของอาเซียนอีกด้วย

อุทยานธรณีสูตล ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของไทย ครอบคลุมทั้งหมด 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง โดดเด่นที่ลักษณะภูมิประเทศและธรรมชาติ ที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่มากมาย และชายหาดที่สวยงาม และยังปรากฏหลักฐานพื้นทะเล ที่ย้อนกลับไปเมื่อ 500 ล้านปีก่อน พบซากฟอสซิล ที่บ่งชี้อายุทางธรณีวิทยาได้อย่างสมบูรณ์ อุทยานธรณีสูตล จึงเป็นพื้นที่แหล่งอารยธรรมที่อุดมด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า ผ่านการสั่งสมของวันและเวลา ก่อเกิดเป็นเทือกเขา และถ้ำ และทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยท้องถิ่นมาจนถึงปัจจุบัน

มาเที่ยวสตูลทางเครื่องบินต้องมาลงที่สนามบินหาดใหญ่ หรือตรังก็ได้ แล้วต่อรถไปอีกประมาณ 2 ชม.โดยที่เรามุ่งไปจุดหมายแรกของเราคือ อำเภอทุ่งหว้า ที่ ถ้ำเลสเตโกดอน เดิมชื่อถ้ำวังกล้วย เป็นถ้ำที่อยู่ติดทะเล และมีน้ำทะเลท่วมขังตามการขึ้นลงของน้ำทะเล จึงเรียกว่าถ้ำเล สิ่งที่โดดเด่นของถ้ำแห่งนี้ที่สำคัญคือการพบซากดึกดำบรรพ์ของช้างและแรดสมัยไพลสโตซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างสกุลสเตโกดอน ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกชื่อถ้ำแห่งนี้  ถ้ำเลสเตโกดอนเป็นถ้ำอยู่ในเทือกเขาหินปูนทอดยาวมีลักษณะคล้ายอุโมงค์ใต้ภูเขา ภายในถ้ำมีลักษณะคดเคี้ยวมีระยะทางจากปากถ้ำจนถึงทางออก ประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นถ้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เรานั่งเรือแคนูเพื่อเข้าชมความงดงามของหินงอกหินย้อย รวมถึงซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ที่มีอายุโดยเฉลี่ยถึง 500 ล้านปีที่ยังหลงเหลือภายในถ้ำ รวมถึงการผจญภัยเล็กๆ ในการพายเรือแคนูไปตามเส้นทางคดเคี้ยวภายในถ้ำ  การท่องเที่ยวภายในถ้ำจะต้องพายเรือลอดถ้ำ และต้องพิจารณาระดับน้ำในถ้ำแต่ละวันด้วย แต่สามารถเข้าถ้ำได้ตลอดทุกฤดูกาล การจะมาท่องเที่ยวที่นี่จะต้องติดต่อที่องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้าล่วงหน้า เพื่อเช็คระดับน้ำว่าสามารถเข้าถ้ำได้ช่วงเวลาใหน ซึ่งมีแค่เพียงวันละรอบเท่านั้น นอกจากธรรมชาติแล้วยังมี พิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีวิทยาสตูล ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลทางวิชาการ ส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และสร้างความตระหนักของคนในท้องถิ่นในการหาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรณีของจังหวัดสตูล ที่มีทั้ง ส่วนจัดแสดงซากดึกดำบรรพ์สตูล ส่วนจัดแสดงแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยาสตูล ส่วนจัดแสดงแบบจำลองลักษณะทางภูมิประเทศ ส่วนจัดแสดงข้อมูลอุทยานธรณีสตูล และส่วนจัดแสดงหินชนิดต่างๆ

หลังจากนั้นเราออกไปหาเมล่อนชิมกันที่ กลุ่มฉิมเมล่อน คือ ฟาร์มเมลอนที่มุ่งเน้นให้องค์ความรู้การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแก่ผู้ที่สนใจเพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคต  โดยผลผลิตภายในฟาร์มจะใช้สารชีวภัณฑ์แทนการใช้สารเคมี ความโดดเด่นของของเมลอนที่นี่คือ รสชาติหวาน กลิ่นหอมเนื้อนุ่มละเอียด นอกจากนั้น ฉิมเมล่อนยังได้เพิ่มมูลค่า โดยการเขียนลายฟอสซิลลงบนผลเมลอน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับท้องถิ่นและอำเภอทุ่งหว้าที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่หนึ่งของอุทยานทางธรณีวิทยาอีกด้วย นอกจากผลเมลอนแล้วยังมี แยมเมลอน จนไปถึงเครื่องดื่มผสมเมล่อนจำหน่ายด้วยเช่นกัน

เราไปปิดทริปของวันที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่ ประกอบด้วยพื้นที่น้ำทะเล เกาะ ภูเขา พื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเลและบริเวณใกล้เคียงโดยรอบในระยะ 3 กิโลเมตร  และจุดท่องเที่ยวที่ต้องห้ามพลาดของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ได้แก่ เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย ที่มาของ “เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย” นั้น เกิดจากบริเวณเขาโต๊ะหงายมีแนวลอยเลื่อนของเปลือกโลก ซึ่งเป็นตัวแบ่งหินที่มีอายุแตกต่างกัน 2 ยุค คือ หินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน (อายุประมาณ 542-488 ล้านปี) และหินปูนยุคออร์โดวิเชียน (อายุประมาณ 488 – 444 ล้านปี) การเดินตามสะพานเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติจึงเหมือนการเดินข้ามกาลเวลามาเพื่อชมความอัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้น ยิ่งได้มาตอนพระอาทิตย์กำลังตกดิน สวยไม่แพ้ที่ใหนจริงๆ

วันถัดมาเราแต่งกายพร้อมไป ไปตะลุยเกาะแห่งตำนานกัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา   “ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายู แปลว่า เกาะที่มีน้ำจืด บ้างก็ว่าแปลว่า มีเกาะมาก สองคำแปลนี้ดูจะสอดคล้องไปด้วยกัน เนื่องจากบนเกาะมีน้ำตก และมีลำธารไหลผ่านอ่าวสำคัญๆ ได้แก่ อ่าวพันเตมะละกา อ่าวสน อ่าวมะขาม อ่าวตะโละอุดัง และอ่าวตะโละวาว อ่าวต่างๆ เหล่านี้มีคลองและลำธารไหลผ่านออกสู่ทะเล อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ประกอบด้วยเกาะที่มีขนาดใหญ่ 7 เกาะด้วยกัน คือ เกาะตะรุเตา ที่มีเนื้อที่ 152.01 ตารางกิโลเมตร หรือ 95,000 ไร่ เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสีโดยจัดแบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ๆ ได้ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี ครั้งนี้เวลามีน้อยเราเลยได้มาแค่เกาะตะรุเตา เรามาทำความรู้จักคร่าวๆกัน เกาะตะรุเตาถือเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ในฐานะสถานที่กักขังนักโทษการเมือง จากการก่อกบฏบวรเดช และกบฏนายสิบ ระหว่างนี้ความเป็นอยู่บนเกาะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

หลังจากปี พ.ศ. 2488 สงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ 2 นักโทษและผู้คุมได้รวมตัวกันเป็น “โจรสลัดตะรุเตา” ปล้นสะดมเรือสินค้าที่เดินทางผ่านตะรุเตาไปยังปีนัง ลังกาวี และมะละกา ต่อมาทางการไทยและทางการมาเลเซียได้จัดการปราบปรามจนเข้าสู่สถานการณ์ปกติในปี พ.ศ. 2491 ในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติตะรุเตาถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งดำน้ำชมปะการังที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว รวมถึงได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียนอีกด้วย

ขึ้นจากเกาะเราไปอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นที่ กลุ่มปันหยาบาติก ที่นี่เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่นำอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการพัฒนาและออกแบบลวดลายที่สอดคล้องกับเรื่องราวทางธรณีวิทยาของอุทยานธรณีสตูลโดยประยุกต์เอาภาพจำลองสภาพแวดล้อมทะเลโบราณในยุคออร์โดวิเชียนหรือเมื่อประมาณ 444 ล้านปีก่อน มาทำเป็นลายผ้าโดยมีปลาหมึกโบราณหรือนอติลอยด์ และไทรโลไบท์ เป็นตัวเอก นอกจากนั้น วัสดุที่ใช้ย้อมยังเป็นการนำวัสดุธรรมชาติ อย่างแร่ธาตุ ใบไม้ เปลือกไม้ ผลไม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานมาเป็นวัสดุย้อมสี เช่น สีแดงที่ได้จากดินที่ผุผังจากพื้นที่หินปูนที่ได้สีแดงจากธาตุเหล็ก สีเหลืองจากโคลน สีน้ำตาลจากเปลือกโกงกาง ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงเรื่องราวของอุทยานธรณีสตูลได้อย่างดี

วันสุดท้ายของทริปสั้นๆของเรา ไปเที่ยวเกาะกันอีกที่ที่เกาะเขาใหญ่ เพื่อไปชมปราสาทหินพันยอด เกาะเขาใหญ่ เป็นเกาะหินปูนกลางทะเล อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่เป็นที่ตั้งของ “ปราสาทหินพันยอด” สิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นจากการยกตัวของเปลือกโลกมากว่าหลายร้อยล้านปีทำให้หินมีรูปร่างแปลกตา เป็นลักษณะแท่งหินที่มียอดแหลมนับร้อยนับพันยอดคล้ายกับบนปราสาทในเทพนิยาย ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าปราสาทหินพันยอด เวลาน้ำทะเลลดระดับ เราสามารถพายเรือลอดอุโมงหินเข้าไปชมภายในตัวปราสาทหินพันยอด หรือบางทีก็เดินเล่นบนหาดทรายได้เช่นกัน

พอขึ้นฝั่งเราไปแวะชมเลือกซื้อมุกกันต่อที่ มุกอันดามัน OTOP 5 ดาว ไข่มุกอันดามันจัดเป็นมุกน้ำเค็มที่เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยงในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีน้ำทะเลที่สะอาดและเหมาะแก่การเจริญเติบโตของไข่มุก เป็นอย่างดี จึงทำให้ไข่มุกมีลักษณะพิเศษที่สวยงาม มีคุณภาพดี จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ร้านมุกอันดามันที่เราแวะ จะเน้นจำหน่ายไข่มุกจากทะเลอันดามัน ด้วยดีไซน์สวยงามจากช่างฝีมือในชุมชน ที่ได้รับการการันตีด้วยคุณภาพระดับ 5 ดาว มาสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นกันเถอะค่ะ

จากนั้นเราก็รีบกลับไปหาดใหญ่เพื่อจที่จะได้แวะช็อปปิ้งตลาดชื่อดังก่อนกลับบ้านที่ ตลาดกิมหยง ใครมาถึงหาดใหญ่ไม่แวะตลาดกิมหยงเหมือนมาไม่ถึงหาดใหญ่ เพราะที่นี่เป็นตลาดขายของฝากและของที่ระลึกขนาดใหญ่ ในอำเภอหาดใหญ่  โดยตลาดกิมหยง ตั้งอยู่บนอาคารสองชั้น ริมถนนละม้ายสงเคราะห์ ชั้นบนเป็นร้านขายสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ชั้นล่างเป็นตลาดขายของแห้งหรือสินค้าทั่วไปแทบทุกอย่าง ผลไม้สดมากๆ และราคาก็ย่อมเยาว์จนอดใจไม่หอบกลับบ้านไม่ได้ หลังจากซื้อหาของฝากจนจุใจเราก็มุงหน้าไปสนามบินกลับกรุงเทพกัน

เที่ยวสตูล 3 วัน 2 คืน ง่ายๆ สบายๆ ลองหาเวลามาสัมผัสประสบการณ์แบบ Local Experience 360 องศา กันนะคะ #AmazingThailand # LocalExperience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.