
เมื่อ KTC Press Club ชวน Sineha Bangkok เที่ยวย่านตลาดน้อย ไปค้นหาความลับฉบับไชน่าทาวน์ ที่หลายคนไม่รู้ ทางเรารีบตกปากรับคำอย่างง่ายได้ อย่าถามว่าไม่เคยไปตลาดน้อยเหรอ ? ให้ถามว่าไปกี่รอบแล้วดีกว่า ^_^ แต่ Sineha Bangkok มั่นใจแน่ ๆ ว่ายังมีความลับของพระนครอีกมากมายที่เราไม่รู้ ครั้งนี้ไปเที่ยวกับผู้รู้เราต้องไปแน่นอนค่า

ปีนี้กรุงเทพมหานคร ครบรอบ 240 ปีพอดีด้วย จะมีอะไรดีกว่าไปเที่ยวกรุงเทพฯ กันคะ ไปรู้จักกรุงเทพฯ บางมุมให้มากขึ้นกว่าเดิมกันค่ะ โดยทริปนี้ KTC Press Club เชิญ อาจารย์นัท-ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว ส่วนการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร มาพาเราไปไขความลับย่านตลาดน้อยแบบจุใจได้ความรู้ และรู้ความลับที่ไม่รู้มาก่อนอย่างแน่นอน




เริ่มจุดหมายแรกกันที่ วัดอุภัยราชบำรุง หรือ วัดญวนตลาดน้อย ชื่อเดิม “คั้น เยิง ตื่อ” หลักสังเกตง่าย ๆ คือ วัดญวน หรืออันนัมนิกาย ชื่อจะลงท้ายว่า “ตื่อ” ส่วนที่ลงท้ายว่า “ยี่” คือวัดจีน เช่น วัดเล่งเนยยี่ เป็นต้น วัดอันนัม นิกายใน กทม. มีทั้งหมด 7 วัด อันนัม แปลว่าตอนใต้ของจีนซึ่งก็คือ ญวน นั่นเอง วัดญวนตลาดน้อยเป็นหนึ่งในวัดญวนสมัยแรกในสยาม สร้างโดยชาวเวียดนามอพยพในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้พระราชทานที่ดินให้ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งจีน-ญวน มีต้นพระศรี มหาโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่หน้าวัด และพระบรมสารีริกธาตุ ที่คาดว่าได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า วัดอุภัยราชบำรุง มีความหมายว่า “เป็นวัดที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์” วัดญวนตลาดน้อย เป็นพุทธมหายาน และความเชื่อแบบพุทธมหายานคือเชื่อว่า พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน มากเท่าจำนวนเม็ดทรายบนโลก



ต่อมาที่ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร วัดโบราณสมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสำเพ็ง” ต่อมาสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดปทุมคงคา” หลาย ๆ คนคงมาเที่ยวหรือมาทำบุญที่นี้กันบ่อย ๆ แต่รู้หรือไม่วัดปทุมคงคามีเรื่องลับมากมายน่าสนใจ ตั้งแต่ ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธมหาชนกทรงเครื่องอย่างกษัตริย์หรือทรงเครื่องจักรพรรดิ ที่มีเพียง 1 ใน 3 องค์ในกรุงเทพมหานคร มีพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาแท้ ๆ เป็นหลักฐานสำคัญซึ่งหลงเหลือภายในพระวิหาร ที่แทบหาที่ไหนไม่ได้แล้ว และที่วัดปทุมคงคา ยังเป็นที่เก็บอัฐิของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ ดร.ป๋วย ต้องการมาอยู่ที่เดียวกับที่เก็บอัฐิของแม่ ดร.ป๋วยด้วยนั่นเอง



และอีกหนึ่งความลับในวัดปทุมคงคาคือ ที่วัดนี้มี แท่นหินสำเร็จโทษเจ้านายองค์สุดท้าย หรือแท่นประหารที่ศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เจ้านายพระองค์สุดท้ายในแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ถูกสำเร็จโทษที่ลานวัดแห่งนี้ในข้อหาคิดก่อการกบฏ โดยวิธีใช้ท่อนจันทร์ทุบ ก่อนที่ รัชกาลที่ 4 จะทรงยกเลิกการสำเร็จโทษเจ้านายไป




ร้านฮงเชียงกง ห้องแถวสีน้ำเงินคราม คาเฟ่ร่วมสมัยที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายย้อนยุค ที่ไม่ว่าจะหันไปมุมไหนของร้านก็มีเสน่ห์ชวนมอง และคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทุกครั้งที่ไปเยือน เพราะนอกจากที่จะได้ดื่มด่ำกับอาคารเก่าและโบราณวัตถุที่นำมาแสดงอยู่ทั่วบริเวณแล้ว อาหารและเครื่องดื่มก็รสชาติดีไม่แพ้สถานที่เลยทีเดียว



ศาลเจ้าโจซือกง ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2347 ซึ่งแต่เดิมเป็นวัดร้างที่เดิมมีนามว่า “วัดซุนเฮงยี่” ก่อนจะกลายมาเป็นศาลเจ้าโจวซือกง เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวจีนฮกเกี้ยน ถือเป็น ศาลเจ้าที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในย่านตลาดน้อย เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานจีนฮกเกี้ยนโบราณมีเทพประธานของศาลเจ้าคือ เทพโจวซือกง หรือหมอพระเช็งจุ้ยโจวซือ รูปสลักของท่านได้อัญเชิญมาจากมณฑลฮกเกี้ยนประเทศจีน ที่มีหลักฐานการบูรณะโดยเศรษฐีชาวจีนฮกเกี้ยนการทำพิธี “ป๋ออุ่ง” ที่ช่วยเสริมดวงชะตาเพิ่มสิริมงคลเรื่อง “สุขภาพ”



ร้านเฮงเส็ง ที่อนุรักษ์อาชีพทำเบาะไหว้เจ้าของบรรพบุรุษให้ผ่านพ้นช่วงเวลาจากอดีตจนถึงปัจจุบันกว่าศตวรรษให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยคุณเจี๊ยบ-วิมล เหลืองอรุณ ทายาทรุ่น 3 เล่าถึงการสานต่อกิจการจากรุ่นสู่รุ่น ภูมิปัญญาจากบรรพชนจีนที่บรรจงทำงานฝีมือผ่านปลายเข็มจากที่นอน หมอน มุ้ง เบาะไหว้เจ้า สู่หมอนอิงทำมือ โดยร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโมเดิร์น แต่ยังคงเอกลักษณ์งานฝีมือการทำเบาะคุกเข่าไหว้เจ้าดั้งเดิมที่เหลือเป็นเจ้าสุดท้ายในไทยแล้ว


ร้านเฟิงจู-หมูเจริญ ร้านลับเล็ก ๆ ในมุมตึก ตกแต่งสไตล์บ้านจีนย้อนยุค แต่ถูกใจวัยรุ่นยุคนี้อย่างจัง บรรยากาศเหมือนได้มาทานเกี๊ยวกันที่ฮ่องกง ที่มีเมนูไม่กี่อย่าง “เกี๊ยวซ่าหน้าเปิด” 5 รสชาติ ดั้งเดิม สามก๊ก เห็ด หมาล่า และแกงฮังเล เกี๊ยวซ่าแนวใหม่ ไม่เหมือนใคร จุดเด่นเป็นตัวเกี๊ยวที่มีลักษณะเปิดหน้า ให้เห็นไส้เเน่น ๆ ด้านใน ห่อด้วยแป้งเกี๊ยวสูตร โฮมเมดที่เน้นความบางเเต่หนึบ กับคอนเซ็ปต์ ‘ไม่พึ่งรสดี ไม่มีชูรส งดคนอร์ ไม่ง้อเมีย’ ^_^

บ้านเลขที่ 1 อาคารอายุกว่าร้อยปีที่เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมยุค นีโอคลาสสิคที่ถูกต้องอย่างแท้จริง บ้านเลขที่ 1 เป็นอีกพื้นที่สำคัญส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเดิมทีสร้างเป็นสำนักงานของบริษัทกลั่นสุราของฝรั่งเศสในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศเรามีการติดต่อกับต่างประเทศจนรุ่งเรือง และกลายมาเป็นอีกหนึ่งอาคาร อนุรักษ์ที่สวยงาม เป็นสง่า จนใคร ๆ ผ่านไปมาก็อดแวะถ่ายรูปไม่ได้
ทริป 1 วันง่าย ๆ ที่ได้รู้ความลับหลายเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ขอบคุณ KTC Press Club ที่ชวน Sineha Bangkok มาเที่ยวด้วยกันในครั้งนี้ ครั้งหน้าจะชวนไปไหนอีก อดใจรอกันได้เลยนะคะ