ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่า ชีวิตนี้ฉันเที่ยวอยุธยาจนจำประวัติศาสตร์ขึ้นใจแล้ว ยิ่งบริเวณเกาะกลางเมืองด้วยแล้ว ไม่รู้หลับตาก็ชี้ถูกว่าวัดไหนเป็นวัดไหน
ถึงจะเป็นแบบนี้ก็อย่าเพิ่งเบื่ออยุธยา เพราะวันนี้เรามีสถานที่แบบ Rejuvenation ของอยุธยามานำเสนอ แถมเป็นบริเวณรอบนอกตัวเมืองอยุธยา แก้เบื่อให้คนเที่ยวกรุงเก่ากันมามากแล้วไปในตัว
อย่าเพิ่งกังวลว่าพาออกนอกเมืองแล้วจะเหนื่อย เพราะสไตล์ Sineha Bangkok ไม่โหมเที่ยว เพราะมาสายชิว เที่ยวสบาย เน้นอิ่มใจกับสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อการท่องเที่ยวจริง ๆ ไม่เน้นประเภทเก็บแต้มเช็คอิน เพราะบางทีไปทั้งวันอยู่มันที่เดียวก็มีครับ
พุทธอุทยานมหาราช กราบนมัสการหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่
ไปกันจุดหมายแรกที่ อำเภอมหาราช จังหวัดอยุธยา อยู่ไปทางจังหวัดอ่างทอง เรียกว่า พุทธอุทยานมหาราช ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย ช่วงกิโลเมตรที่ 44 ใครวิ่งรถจากกรุงเทพฯขึ้นเหนือบ่อย ๆ ต้องผ่านเส้นนี้แน่ ๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวหลง ยิ่งเห็นองค์หลวงปู่ทวดมาแต่ไกล ก็ใช่เลย
แต่ใครคิดจะมาเที่ยวที่นี่ ไม่แนะนำให้มาเที่ยวแบบทางผ่าน ถ้าให้ดีหาเวลามาจะดีกว่า
พุทธอุทยานมหาราช เป็นสถานที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจใหม่ของท้องถิ่น โดยมีองค์หลวงปู่ทวดที่เจ้าของที่ดิน ศรัทธาสร้างขึ้นเพื่อเป็นทั้งศูนย์รวมใจพุทธศาสนิกชน และเป็นแลนด์มาร์คที่โดดเด่น ก่อนจะมอบให้ทางวัดวชิรธรรมารามดูแล ส่งผลให้วัดพัฒนาและขยายสถานที่ปฏิบัติธรรมให้กับผู้สนใจมากขึ้น
จึงถือได้ว่าที่นี่ถูกสร้างขึ้นจากพื้นดินว่างเปล่า ไม่เพียงสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาที่ผุดขึ้นกลางที่ดิน ทางผู้จัดสร้าง ยังจัดพื้นที่รอบนอกก่อนถึงตัวองค์หลวงปู่ทวด ให้เป็นตลาดท้องถิ่นขนาดใหญ่ สไตล์ย้อนยุค เป็นถนนคนเดินที่รวบรวมอาหาร สินค้าท้องถิ่น ให้ชาวบ้านในบริเวณข้างเคียงมาเช่าพื้นที่ขายจนทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูไปตาม ๆ กัน
ตลาดที่คึกคักได้ขนาดนี้ เพราะบรรดาพ่อค้าแม่ค้าคัดกันมาแต่ของดีขึ้นชื่อ ทำสดใหม่ ให้คนมาเดินเที่ยว เดินไปกินไป หรือจะนั่งรับประทานตามที่ที่จัดไว้ให้ มีบริการที่จอดรถขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบมาพร้อมการพัฒนาพื้นที่ ดีไซน์ของตัวอาคารก็ปรับให้ดูเข้ากับท้องถิ่นแต่ก็ดูทันสมัยอยู่ในตัว แถมมีบริการรถเข็น ร่ม ให้ยืมวนกันใช้ เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานใหม่ของการบริการที่หาไม่ได้ในตลาดอื่น ๆ
ด้วยบริเวณพื้นที่ขนาดใหญ่ และองค์ประกอบหลากหลายที่มี จึงไม่แนะนำว่า ใครที่คิดจะแวะเที่ยวพุทธอุทยานมหาราช แบบเป็นทางผ่าน ก็ต้องเผื่อเวลาไว้เยอะมาก ๆ อย่างน้อยก็ชั่วโมงสองชั่วโมงก็อาจจะน้อยไปเสียด้วยซ้ำ กับการเดินชิล ๆ หาของทานเล่น ทานจริง จิบกาแฟ ไหว้พระ ให้อาหารปลา แวะนวด ชมวิว ถ่ายรูป และอีกสารพัด
ถ้าจะให้หาคำตอบแบบด่วน ๆ ว่าที่นี่เหมือนที่เที่ยวชื่อดังที่ไหน ที่พอจะเปรียบได้ก็น่าจะเป็น ตลาดดอนหวาย ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดที่มีของกินให้เลือกมากมาย อยู่ในวัด ใกล้แม่น้ำ เพียงแต่ที่พุทธอุทยานมหาราช จะเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ ที่มีสะพานเชื่อมระหว่างตลาดกับตัวองค์หลวงปู่ทวดแทน
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นสถานที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ถ้าหาตำนานพื้นที่บริเวณ ก็มีเรื่องเล่าตามหลักฐานประวัติศาสตร์เช่นกันว่า บริเวณนี้เป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระพระนเรศวรมหาราช จึงเป็นที่มาของชื่อ “พุทธอุทยานมหาราช” ส่วนการสร้าง หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ ซึ่งมีตำนานโด่งดังว่า เหยียบน้ำทะเลจืด ขึ้น ก็เพื่อความเป็นสิริมงคล และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “วัดวชิธรรมาราม” โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตรักษาการเจ้าอาวาสรูปแรก
พุทธอุทยานมหาราช หลวงปู่ทวด อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 44 ถนนสายเอเซีย ทางหลวงหมายเลข 32 (ขาออก) ต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา
เปิดทุกวัน วันธรรมดาตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ส่วนเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.
ใครตามรอย Sineha Bangkok มา จะเที่ยวที่พุทธอุทยานมหาราชแค่ช่วงเช้า หรือจะเลยไปถึงบ่ายก็ยังไหว จากนั้นค่อยไปต่อกันที่ วัดบึงลัฏฐิวัน ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดหลวงปู่ทวดไปประมาณ 40 กม. ในอำเภอท่าเรือ จากอยุธยาฝั่งอ่างทอง คราวนี้ขยับไปทิศที่มุ่งไปทางจังหวัดสระบุรี ไม่ต้องกลัวหลงปักหมุดแล้วตามกูเกิลไปเลยครับ
วัดบึงลัฏฐิวัน
เป็นอีกหนึ่งวัดสวยในอยุธยาที่กำลังมาแรงในโลกโซเชียล เพราะความสวยงามดึงดูดของเจดีย์สีขาว ที่สายถ่ายรูปนอกจากได้มาไหว้พระ ยังได้รูปสวย ๆ ไปอีกเพียบ
ก่อน วัดบึงลัฏฐิวัน จะมีสภาพร่มรื่น เป็นระเบียบ และมีเจดีย์สวยงามอย่างวันนี้ เดิมเคยเป็นที่ตั้งวัดร้างที่สร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนจะมีพระป่ามาบูรณะ กลายเป็นวัดสายปฏิบัติธรรมสาขาที่ 20 ของวัดหนองป่าพง ของเจ้าคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
พระมหาเจดีย์ศรีอยุธยาสัมมาสัมโพธิญาณ หรือตัวอาคารสีขาวสวยเด่นที่มีเพียงหลังเดียวของวัด สร้างบนเนื้อดินที่ปลูกหญ้าล้อมรอบ ทำให้ตัวอาคารเด่นขึ้น ยิ่งในวันฟ้าใสยอดขาวของเจดีย์ก็ยิ่งสะดุดตา การออกแบบเจดีย์ เป็นการวมลักษณะเด่น ของพระธาตุเจดีย์ในประเทศไทย มาไว้รวมกัน เช่น ส่วนยอดของเจดีย์ เป็นสัญลักษณ์ขององค์พระธาตุพนม ช่วงคอบัลลังก์ หรือฐานของยอดเจดีย์ เป็นลักษณะจากเจดีย์วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช ส่วนกลางของเจดีย์ เป็นสัญลักษณ์ขององค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
โดยเริ่มต้นสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2549 เพิ่งจะแล้วเสร็จได้ไม่นานยังเหลือรายละเอียดในการตกแต่งอีกเล็กน้อย บริเวณด้านหน้าเจดีย์ยังมีการจำลองเจดีย์พุทธคยา พุทธสถานสำคัญในประเทศอินเดียมาไว้ให้ได้ชมกันอีกด้วย
ส่วนภายในเจดีย์ ตกแต่งผนังและเพดานด้วยภาพจิตกรรมฝาผนัง เป็นรูปจำลองท้องฟ้าที่แวดล้อมไปด้วยหมู่เทวดาทั้งที่วาดเป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบทั่วไปและปั้นเป็นรูปปั้นประดับเป็นส่วนประกอบของภาพเพื่อให้เกิดมิติแปลกไปจากจิตรกรรมฝาผนังที่พบเห็นทั่วไป นอกจากพระประธานยังมีพระธาตุที่บรรจุให้ผู้คนที่แวะมากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล รวมทั้งบริเวณด้านหน้าประตูเจดีย์อีกสามด้าน ยังมีหุ่นจำลองของพระครูอาจารย์สายพระป่าไหว้ให้กราบไหว้และระลึกถึงพระคุณคำสั่งสอนอีกหลายรูป
สำหรับชื่อของวัดบึงลัฏฐิวัน เดิมเรียกกันแค่ วัดบึง หลังจากเริ่มมีการบูรณะวัดอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2510 เพราะอยู่ใกล้บึง จนต่อมาหลวงปู่ชาให้นามตามสภาพแวดล้อมของวัดที่มีต้นตาลอยู่มากว่า “วัดบึงลัฏฐิวัน” ปี พ.ศ. 2518 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศขึ้นเป็นวัดที่มีสงฆ์อยู่ และได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ เพราะเป็นวัดสำหรับปฏิบัติวิปัสสนาเนื่องจากเป็นสถานที่ร่มรื่นและเงียบสงบ
สันนิษฐานว่า บึง ที่พบอาจจะเกิดจากการที่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (หรือ เอสซีจี) ซึ่งเคยจัดซื้อที่ดินบริเวณวัดเพื่อขุดดินนำไปผสมทำปูนซิเมนต์ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2500 ซึ่งการเข้ามาขุดดิน ก็ทำให้มีการตัดถนนผ่านบริเวณวัด ส่งผลให้การคมนาคมไปมาบริเวณวัดบึงฯ สะดวกมากขึ้น
เรียกได้ว่า วัดบึงลัฏฐิวัน เปลี่ยนมาหลายยุคกว่าจะมีเจดีย์ที่ตั้งเด่นสวยงาม และวันนี้ ยังอยู่ระหว่างจัดสร้างองค์พระขนาดใหญ่อีกฝั่งของตัววัดที่มีถนนคั่น การจัดระบบระเบียบสิ่งอำนวยความสะดวกในวัด ก็เจริญหูเจริญตา สวย สะอาด สงบ ทั้งห้องน้ำ ลานวัด ลานจอดรถ ทั้งวัดมีเพียงตู้ทำบุญขนาดใหญ่แบบตู้ไปรษณีย์สีแดงหน้าห้องน้ำวัด ภายในเจดีย์ไม่มีตู้ทำบุญวางดักหน้าหลังแบบที่พบทั่วไป ร้านกาแฟของวัดก็แนวคิดดี เน้นให้บริจาคทำบุญมากกว่าเพื่อการค้า
เอาเป็นว่า ใครมีโอกาสพอจะผ่านไปแถวนั้น หรือคิดว่าตั้งพิกัดมุ่งตรงไปแวะชมสักครั้ง ก็แนะนำเลยครับ สวยมากจริง ๆ ทั้งด้านนอกและด้านใน ถ้าใครทำเวลาดีเพราะเริ่มเดินทางแต่เช้า แนะนำให้ไปเที่ยวอ่างทองต่อได้เลย เพราะใกล้มากแต่แนะนำให้เริ่มที่วัดบึงลัฏฐิวันก่อน ลองไปดูรีวิว ”เที่ยวย้อนยุค บุกวัดยุคกรุงศรี” ที่เมืองอ่างทอง นำร่องก่อนแพลนทริปได้เลยครับ
วัดบึงลัฏฐิวัน : ตั้งอยู่เลขที่ ๒๖ หมู่ที่ ๑ บ้านช้าง ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
ไว้ Sineha Bangkok จะพาไปเที่ยวที่ไหนอีก อย่าลืมติดตามกันเรื่อย ๆ นะ