พระธาตุลำปางหลวง UNSEEN เมืองไทย ทรงคุณค่าประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน

ผ่านลำปางทีไร แม้จะมีวัดสวย ๆ ให้เลือกไปมากมาย แต่ชื่อ วัดพระธาตุลำปางหลวง จะต้องผุดขึ้นมาเป็นลำดับแรกเสมอ วัดคู่บ้านคู่เมืองเมืองลำปาง เป็นที่เลื่องชื่อมานานด้านสถาปัตยกรรมก่อสร้างที่ได้อิทธิพลมาจากวัฒนธรรมขอม เพราะมีวิหารที่เปรียบเหมือนตำแหน่งที่ตั้งของเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยลานกว้างรอบด้านที่เปรียบเป็นมหานทีทันดร บริเวณด้านหน้าพระธาตุ

เหตุที่ทำให้ วัดพระธาตุลำปางหลวง โด่งดังเป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น ก็ต้องยกให้ยุคแคมเปญอันซีนไทยแลนด์ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สรรหาสถานที่เที่ยวที่คนไทยอาจจะไม่รู้บางสิ่งบางอย่างที่งดงามซ่อนอยู่ นำออกมาเผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้ภาพพระธาตุกลับหัว ที่ปรากฏอยู่ในโบสถ์ของ วัดพระธาตุลำปางหลวง กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูนักท่องเที่ยวสู่เมืองลำปางจำนวนมากมาจนถึงปัจจุบัน

ตามประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า วัดพระธาตุลำปางหลวง ก่อสร้างตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี สตรีผู้ครองนครหริภุญชัย ซึ่งในยุคนั้นได้รับอิทธิพลความเชื้อจากลัทธิขอมอยู่มาก ทำให้โบราณสถานในยุคนั้นใช้คติความเชื้อแบบขอมซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฮินดู ที่ส่งออกมาจากประเทศอินเดียอีกที ในการก่อสร้าง แม้จะผ่านกาลเวลามานับหลายร้อยปี แต่ปัจจุบัน วัดพระธาตุลำปางหลวง ก็ยังคงได้รับการดูแลรักษาและพัฒนาปรับปรุงให้คงสภาพของวัดที่มีวิหารและโบสถ์เก่าแก่ที่สร้างจากไม้ รวมไปถึงองค์พระธาตุสีทองอร่อมที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความที่ วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เลยทำให้ที่นี่เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมประเพณีของเมืองลำปางที่หาดูได้ตั้งแต่หน้าวัดจนถึงในวัดอีกด้วย บริเวณลานหน้าวัด ซึ่งพื้นถนนจะอยู่ต่ำจากตัววัด เพราะความเชื้อที่สร้างวัดอยู่บนเขาพระสุเมรุทำให้พื้นที่วัดอยู่สูงจากบริเวณโดยรอบ ด้านหน้าทางเข้าวิหารเป็นเหมือนสถานีจอดรถม้า ที่มักจะคอยมารอรับบริการนักท่องเที่ยวที่อยากจะสัมผัสกับรถม้าลำปางอันโด่งดัง บางคนไม่ได้นั่งรถม้าชมเมือง ก็ขอขึ้นไปนั่งถ่ายรูป ก็สามารถทำได้เพียงจ่ายค่าบริการให้กับคนขับรถม้าเป็นค่าตอบแทน

ส่วนบริเวณลานหน้าวัด นอกจากจัดทำเป็นที่จอดรถ มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ พื้นที่ส่วนหนึ่งยังจัดเป็นพื้นที่ร้านค้าขายของฝากของที่ระลึก ถ้ามีโอกาสแวะไปอย่าลืมเผื่อเวลาสักนิดแวะชมสินค้า รับรองว่าจะต้องได้สินค้าพื้นเมืองและของอร่อยพื้นบ้านติดตัวกลับไปแน่นอน แถมในราคาเหมาะสมที่ไม่ได้ขูดเลือดนักท่องเที่ยวอีกด้วย

พอถึงวันงานประเพณีสำคัญ วัดทุกวัดในเมืองลำปางก็จะเป็นแหล่งชุมนุมกิจกรรมของชุมชนใกล้เคียง เหมือนเช่นที่ วัดพระธาตุลำปางหลวง เอง ก็เป็นทั้งสถานที่ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า แต่คุณค่าที่ยิ่งกว่าในปัจจุบันคือการเป็นแหล่งรวมประเพณีที่ยังให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวมาซึมซับและสืบทอดกันในทุก ๆ ประเพณี โดยเฉพาะประเพณีของชาวล้านนาที่หาชมยากขึ้นทุกวัน

9 ไฮไลต์ใน วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่ต้องไปดูให้เห็นด้วยตา

  1. เจดีย์พระธาตุ รูปทรงฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลายูสามชั้น เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
  2. หอพระพุทธ ซึ่งสร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ.1992
  3. เงาสะท้อนพระธาตุกลับหัว ในหอพระพุทธ ซึ่งเกิดจากการหักเหของแสง (ขึ้นไปดูได้เฉพาะผู้ชาย)
  4. ผู้หญิงสามารถชมพระธาตุกลับหัวได้จากแบบจำลองในโบสถ์ด้านข้างองค์พระธาตุฯ
  5. รอยกระสุนริมรั้วองค์พระธาตุฯ เป็นรอยตรงเสเหล็กที่เกิดจากการสู้รบของกองทัพพม่ากับ หนานทิพย์ช้าง หรือ เจ้าพ่อทิพย์ช้าง เจ้าเมืองนครลำปางในช่วงปี พ.ศ.2275 ซึ่งได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษของเมืองลำปาง (มีป้ายบอกตำแหน่งชัดเจน)
  6. สถาปัตยกรรมบันไดนาคและประตูโขง บริเวณด้านหน้าที่เดินขึ้นพระวิหาร ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่หลายคนจะได้เห็นก่อนสิ่งอื่นโดยอัตโนมัติหากเดินเข้าวัดจากด้านหน้า ขึ้นบันไดมาพ้นซุ้มประตูโขงก็ถือว่าเข้าเขตพุทธาวาส ราวบันไดมีทั้งปูนปั้นสิงห์ และมกรคายนาค(สัตว์ในป่าหิมพานต์ตามความเชื่อ) ทั้งสองข้างของบันได สร้างในพ.ศ.2331
  7. วิหารจัตุรมุข วิหารเก่าแก่สร้างจากไม้ตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระธาตุ เห็นทันทีเมื่อเดินพ้นซุ้มประตูโขง
  8. พระแก้วดอนเต้า (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สลักจากหยกสีเขียวแบบศิลปะล้านนา
  9. ไม้ค้ำโพธิ์-ไม้ค้ำสะหลี บริเวณใต้ต้นโพธิ์นอกกำแพงวิหารทางฝั่งซ้าย (หันหน้าเข้าวิหาร) เป็นบริเวณที่มีต้นโพขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ ซึ่งคนล้านนาจะมีความเชื่อว่าหานำไม้ง่าม ที่เรียกว่า “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” มาค้ำยันกิ่งไว้ไม่ให้ล้มจะเป็นการช่วยค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบไป อีกทั้งช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้นไม่ตำต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูเหมือนชื่อไม้ค้ำ

อิ่มบุญ อิ่มเที่ยว กันแล้ว ก็นำสิริมงคลกลับบ้านไปเป็นกำลังใจสู้ชีวิต สู้โควิด-19 กันอย่างมีสติกันต่อไป อ่อ… เกือบจะลืมข้อมูลสำคัญ วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำนักษัตรปีฉลู (ปีวัว) ใครเกิดปีนี้ก็คิดเสียว่าได้กำลังใจคูณสองไปเลย      เวลาเปิดทำการวัดพระธาตุลำปางหลวง ทุกวันเวลา 7.30-17.00 น.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.