ใครติดตาม Sineha Bangkok กันประจำ จะรู้เลยว่า ช่วงนี้เราจะฮิตเที่ยวไทยเป็นพิเศษ (ก็มันยังเดินทางไม่ได้นี่นา) เอาไว้มีวัคซีนโควิด-19 เมื่อไร ค่อยจัดทริปต่างประเทศกันรัว ๆ อีกครั้งนะครับ
รอบนี้พาไปเที่ยวย้อนอดีตสู่สมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ที่จังหวัดอ่างทอง ที่มีวัดสมัยอยุธยาและบางวัดเก่าย้อนไปได้ถึงสมัยอาณาจักรสุโขทัย แต่เที่ยวแบบหอมปากหอมคอ เที่ยวแบบทิ้งระยะห่างสบายๆ ชิลล์ ๆ สนุกแต่ไม่เหนื่อย การ์ดจะได้ไม่ตก ไปเที่ยวครึ่งวันกันก็พอนะครับ (ปล.จริง ๆ สู้แดดไม่ไหว ^_^)
ทริปนี้จากกรุงเทพฯ ไปไม่ยาก ใช้เวลาไม่นาน หาเวลาเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดไหนก็ได้ ตื่นเช้าสักวัน ออกตั้งแต่เช้า ๆ ให้เหมาะกับการเที่ยวชมวัดอย่างเย็นกายสบายใจ สารภาพเลยว่าตอนแรกก็กะจะไปกันสัก 9 วัดตามเลขมงคล แต่สภาพร่างกายไม่ทนร้อนสรุปจบแค่ 3 วัด ช้อปปิ้ง ผัก, ปลา, อาหาร แล้วกลับไปลงครัว #EatAtHome กันที่บ้าน เป็นการเที่ยวแบบป้องกันการ์ดตกช่วงผ่อนคลายโควิด-19 อย่างลงตัว
ประเดิมรับแดดยามเช้าที่ วัดม่วง จากกรุงเทพฯจัดเส้นทางมุ่งหน้าบางปะอิน ก่อนไปหาทางเลี้ยวตามป้ายไปอ่างทอง จากนั้นก็จะเริ่มมีป้ายวัดม่วงให้เห็นไปไม่ยาก ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเดียวก็ไปถึง วัดม่วง ตั้งอยู่ตำบลหัวตะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร ตามถนนสายอ่างทอง-สุพรรณบุรี
วัดม่วง สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เดิมเป็นวัดร้าง เพราะพม่าเผาทำลายทั้งบ้าน วัด บ้านเรือน รวมถึงพระพุทธรูปจำนวนมากตอนเสียกรุงศรีครั้งที่ 2 วัดนี้ก็เลยเหลือแต่ซากปรักหักพังเหมือนหลาย ๆ วัดในยุคนั้น จนกระทั่งท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ (หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ) ธุดงค์มาปักกลด ระหว่างนั่งสมาธิท่านเกิดนิมิตเห็นองค์หลวงปู่ขาวและหลวงปู่แดงมาบอกให้ช่วยบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ จึงได้เริ่มการปฏิสังขรณ์ศาสนสถานต่าง ๆ ในบริเวณวัดเรื่อยมา
วัดม่วง ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานวิสุงคามสีมา (หมายถึง เขตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างอุโบสถ) ให้แก่วัดม่วง หลวงพ่อเกษมจึงรวบรวมจิตอธิษฐานร่วมกับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาสมทบทุนในการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระนามว่า “พระพุทธมหานมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” มีขนาดหน้าตักกว้าง 62 เมตร สูง 93 เมตร พุทธลักษณะงดงามสีทองอร่าม สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล
พระใหญ่วัดม่วง ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 16 ปี มีตำนานเล่าขาน และมีความเชื่อกันว่า การสัมผัสที่ปลายพระหัตถ์พระใหญ่ (พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ) แล้วตั้งจิตอธิฐานขอพรจะเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน
นอกจากองค์พระขนาดใหญ่ที่เด่นสะดุดตา ที่วัดม่วง ยังมีโบสถ์รูปทรงแปลกตาเพราะล้อมรอบด้วยกลีบบัวปูนปั้นขนาดใหญ่ และยังมีสิ่งปลูกสร้างภายในวัดอีกมาก อาทิ พระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล ที่ประดับประดาด้วยแก้วชิ้นเล็ก ๆ งดงามสะกดสายตา คล้ายกับ วิหารแก้ว วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี แต่เล็กกว่า และภายในพระวิหารประดิษฐาน “หลวงพ่อเงิน” พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่สร้างด้วยเนื้อเงินแท้องค์แรกของประเทศไทย
ส่วนบริเวณรอบ ๆ ยังมีทั้ง รูปปั้นพระอรหันต์ เทพเจ้าต่าง ๆ ทั้งจีนและพราหมณ์ มีการจำลองเมืองนรก-สวรรค์ ที่แฝงไปด้วยคติสอนใจ และเหตุการณ์สำคัญของค่ายบางระจันอีกด้วย รวมไปรูปปั้นจากกวรรณคดีไทยเรื่องต่าง ๆ อาทิ รามเกียรติ์ พระอภัยมณี ฯลฯ
วัดขุนอินทประมูล วัดพระนอนเมืองอ่างทอง ต่อมาไปกันที่ วัดขุนอินทประมูล ตั้งอยู่ที่ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง ไปตามเส้นทางสายอ่างทอง-โพธิ์ทอง ไม่ไกลจากวัดม่วงเท่าไหร่นัก ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า วัดขุนอิน เป็นวัดโบราณเช่นกัน สร้างในสมัยสุโขทัย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ หรือ พระนอนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากวัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ มีความยาว 50 เมตร มีชื่อว่า “พระศรีเมืองทอง”
เดิมพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ต่อมาหักพังหมดเหลือแต่เสา จึงมองดูคล้ายประดิษฐานบนโคกดิน ชาวบ้านจึงเรียกว่า โคกพระนอน
บริเวณใกล้เคียงกัน มีซากวิหารที่เหลือแต่ผนังก่ออิฐและเจดีย์เล็ก ๆ อยู่ ข้างในผนังซากอิฐก็มีพระพุทธรูปให้เข้าไปกราบไหว้ได้ สันนิษฐานว่าสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ตรงหน้าพระนอนเยื้องมาทางปลายเท้า มีรูปปั้นของขุนอินทประมูลตั้งอยู่ ซึ่งเล่ากันมาว่า ขุนอินทประมูล คือนายอากรที่ยักยอกเงินหลวงนำไปสร้างวัด ครั้นพอทราบถึงพระมหากษัตริย์ทรงสอบสวน ขุนอินทประมูลไม่ยอมพูดอะไร จึงถูกลงโทษโดนเฆี่ยนจนตาย วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดขุนอินทประมูล”
สำหรับขาช้อป โดยเฉพาะสินค้าอาหารพื้นเมือง ภายในวัดมีตลาดย้อนยุค มีทั้งพืชผักปลอกสารพิษที่ชาวบ้านปลูกกันในพื้นที่ ปลาสลิด ปลาช่อน แดดเดียว ผลิตภัณฑ์น้ำตาลอ้อย ขนมโบราณ เครื่องจักสาน ให้เลือกซื้อกลับไปกิน ไปใช้ ไปฝากในราคาไม่แพง อย่างถามว่าได้อะไรนะ เพี้ยบ… มื้อใหญ่หลังทัวร์วัดก็ได้วัตถุดิบจากที่นี่แทบทั้งนั้น
วัดสังกระต่าย โบสถ์เสาต้นไม้ มาปิดท้ายกันที่ วัดสังกระต่าย ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลาแดง อยู่ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 2 กิโลเมตร ไม่ไกลจากวัดขุนอินทประมูล ตอนสาย ๆ แดดยังไม่แรง เลยวัดขุนอินทประมูลมาไม่ไกล
จากการบอกเล่าต่อกันมา วัดสังกระต่าย เดิมชื่อว่า “วัดสามกระต่าย” แต่ได้มีการเรียกชื่อผิดเพี้ยนกันมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวัดสังกระต่าย สร้างตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาประมาณ 400-500 ปีมาแล้ว สมัยนั้นมี พระภิกษุสงฆ์มาจำพรรษาอยู่และเกิดทะเลาะวิวาทกันบ่อย ๆ ชาวบ้านเชื่อกันว่าสาเหตุน่าจะมาจากเรื่องของเจ้าที่ที่สิงสถิตในบริเวณวัดแรงมาก จึงทำให้พระสงฆ์ไม่สามัคคีกัน ต้องแยกย้ายกันไปคนละที่คนละทาง จนในที่สุดก็กลายเป็นวัดร้างนับร้อย ๆ ปี
เมื่อมีการสร้างวัดขึ้นมาใหม่ในละแวกนั้น ชื่อว่า วัดไผ่ล้อม ชาวบ้านได้มาย้ายกุฏิที่ วัดสังกระต่ายไปสร้างเป็นกุฏิใหม่ที่วัดไผ่ล้อม เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้จำวัด ทำให้วัดสังกระต่ายเหลือเพียงโบสถ์ร้างที่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นโพธิ์ หรือต้นโพธิ์ช่วยยึดผนังอิฐไว้ทั้งสี่ด้านอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ครบ 3 วัดอย่างที่ตั้งใจไม่เลยเที่ยง หลังจากนี้ ใครแรงดีฮึดไปต่อให้ครบ 9 วันก็ไม่ขัด ใครอยากเที่ยวอ่างทองให้จุใจทั้งวันก็หาข้าวกิน อาจจะเข้าไปกินที่ ตลาดศาลเจ้า อ.วิเศษชัยชาญ แล้วเดินชมตลาดโบราณ โรงเจ และศาลเจ้ากวนอูที่อยู่ริมแม่น้ำน้อยต่อ ก่อนไปอีกหลาย ๆ วัดรอบบ่ายก็ได้เช่นกัน
ส่วนใครเหนื่อยแล้ว ก็หาอะไรระหว่างทางกลับกรุงเทพได้ เช่น อาจจะแวะ ที่ตลาด 100 ปีสามชุก ที่อยู่ห่างไปไม่กี่สิบกิโล หรือแวะเข้าตัวเมืองสุพรรณ หาอะไรทานก่อน จะไหว้พระต่อที่สุพรรณ หรือกลับกรุงเทพเลยก็ไม่เหนื่อยดี