แวะชมจันท์-เที่ยวตราด เปิดประสบการณ์เมืองรอง คลุกเคล้ากลิ่นอายท้องถิ่นแบบ 360 องศา

ท่องเที่ยวยังไงให้ถึงถิ่น เป็นโจทย์ใหม่ของแคมเปญท่องเที่ยวเมืองรองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ว่าได้ คำว่าถึงถิ่น ไม่ใช่แค่หมายถึง ไปให้ถึงที่ เข้าถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรมชุมชนในมุมของนักท่องเที่ยวเที่ยวนั้น แต่หมายถึง ทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวของเรา ลงไปถึงคนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริงด้วย ในมุมของนักท่องเที่ยว เราได้ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่ากับการนำเงินไปแลกเปลี่ยนหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ขณะที่ท้องถิ่นก็ได้ประโยชน์จากการรายได้ที่นำไปสู่การสร้างงาน และส่งผลต่อการเติบโตของชุมชน เที่ยวเมืองรองแบบนี้ เลยเท่ากับ วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย อ้อ น่าจะสามสินะ เพราะรัฐบาลก็ได้ผลงานที่สร้างคุณค่าต่อประชาชนและประเทศอย่างเห็นผลอีกด้วย  และนี่คือ 8 สถานที่สำหรับเปิดประสบการณ์ในทริป ชมจันท์ – เที่ยวตราด ที่เราแนะนำให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์แบบเข้าถึงท้องถิ่นของสองจังหวัดดัง อย่าง ที่เที่ยวจันทบุรี และที่เที่ยวเมืองตราด แต่และที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สมกับการขนานนามให้เป็นอัญมณีแห่งภาคตะวันออกของไทย เพราะสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง นอกจากเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจระดับประเทศ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าจังหวัดไหนๆ

ชมจันท์-เที่ยวตราด กับ 8 สถานที่ห้ามพลาดบนเส้นทาง “The Legend of Eastern Gems”

1. อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล

อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล (The Catholic Church Chanthaburi) เป็นโบสถ์ที่มีประวัติการก่อสร้างยาวนานถึง 300 ปี ครั้งแรกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2254 บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี โดยคุณพ่อเฮิ้ต โตแลนติโน และบรรดาคาทอลิกชาวญวน ซึ่งอพยพมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยและตั้งชุมชนบริเวณรอบโบสถ์รวมทั้งยังสืบเชื้อสายกันมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2377 มีการย้ายมาสร้างบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรีอันเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2446 ได้ก่อสร้างโบสถ์หลังปัจจุบันขึ้น ให้มีขนาดใหญ่กว่าหลังเก่าเพื่อรองรับกับจำนวนคริสตศาสนิกชนที่เพิ่มมากขึ้น ลักษณะการก่อสร้างเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกซึ่งเรียกว่า “ศิลปะแบบกอธิก” มีหอแหลมสูงเด่นในตอนเริ่มแรกสร้างทั้งสองด้าน ต่อมาปี ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ทางการสั่งให้รื้อหอแหลมสองด้านออก เพราะเกรงว่าจะเป็นเป้าของระเบิดทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้าชมวิวจากหอสูงนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองจันทบุรีได้ไกลประมาณ 2 กิโลเมตร ศิลปะโบสถ์หลังนี้ได้รับการประดับประดาตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอย่างสวยงาม มีคุณค่าทั้งทางด้านศิลปะ และด้านความคลาสสิก การตกแต่งที่โดดเด่นประกอบด้วยภาพกระจกสีที่เรียกว่า สเตนกลาส แบบที่นิยมตกแต่งโบสถต์ในยุโรป ที่นี่เป็นรูปของนักบุญหลายองค์ติดอยู่บริเวณเหนือพระแท่นบูชา และเหนือหน้าต่างรอบโบสถ์ กระจกสีเหล่านี้มีอายุเก่าแก่ร่วม 100 ปี แต่สีสันยังเด่นชัด ไม่ลอก ไม่ลบเลือน นับเป็นสิ่งงดงามประเมินค่ามิได้

บริเวณกลางโบสถ์ หากสังเกตจะมีรูปปั้นพระแม่ประดิษฐานอยู่ เป็นรูปแกะสลักเก่าแก่อายุนับร้อย ๆ ปีที่แกะสลักจากไม้ทั้งท่อน และได้รับความนับถือเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ สามารถไปสัมผัสเพื่อขอพรได้ ขณะที่รูปปั้นองค์พระเยซูที่ตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายขวาแนวเดียวกันตรงประตูด้านข้างของโบสถ์ ก็แกะสลักจากพลอยสีทั้งก้อน ที่ได้มาจาเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และอยู่คู่กับโบถส์แห่งนี้มาเนิ่นนาน นอกจากนี้บริเวณพระแท่นยังได้รับการตกแต่งแบบกอธิก พื้นปูด้วยหินอ่อน บริเวณเหนือพระแท่นบูชามีรูปกางเขนและพระรูปพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล องค์ประธานของวัดตั้งตระหง่านอย่างงดงาม รวมทั้งรูปปั้นของนักบุญยออากิม และนักบุญอันนา บิดามารดาของพระนางมารีอาด้วย อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมลแห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์อาคารดีเด่น ประจำปี 2542 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชินูปถัมภ์ ปัจจุบัน มีกำหนดเวลาการเข้าชม อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมลได้ตามเวลาการถวายมิสซาในวันธรรมดา 2  ครั้ง เวลา 6.00-7.00 น. และ 18.00 – 19.45น. และในวันอาทิตย์ 3  ครั้ง เวลา 6.15 น. 8.30 น. และ 19.00 น. ผู้เข้าชมควรแต่งกายสำรวมสุภาพ หากไปช่วงกลางคืนของวันสำคัญ จะได้ชมโคมไฟประดับที่เปิดไว้ให้ชมอย่างสวยงาม

2. ชุมชนริมน้ำจันทบูร

จากอาสนวิหารพระนางมารีอา มีสะพานบริเวณด้านหน้าวิหารข้ามไปฝั่งชุมชนริมน้ำจันทบูรได้อีกเส้นทาง และเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยม แต่ก่อนข้ามไป อย่าลืมชมบ้านเก่ารอบวิหาร ที่ก็ถือเป็นชุมชนจันทบูรอีกฝั่งที่มียังหลงเหลือบ้านโบราณให้ได้ชมอีกหลายหลัง

ชุมชนริมน้ำจันทบูรตั้งอยู่ในเมืองจันทบุรี เริ่มมีการก่อตั้งเป็นชุมชนตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย สมัยนั้นบริเวณนี้เป็นที่ติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าเพราะมีชายหาดริมฝั่งแม่น้ำเหมาะแก่การคมนาคมขนส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค ในปัจจุบันมีการอนุรักษ์อาคารเก่าที่ตั้งอยู่เรียงรายตามเส้นทางถนนริมน้ำจันทบูรแห่งนี้ รวมทั้งตึกที่น่าสนใจอย่างบ้านขุนบูรพาภิผล ปัจจุบันกลายเป็นร้านขนมไข่ป้าไต๊ชื่อดัง บ้านหลวงประกอบนิติสาร บ้านหลวงราชไมตรี ตึกโบราณแบบชิโนโปรตุกีส อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล และศาลเจ้าต่างๆ

บางบ้านได้ดัดแปลงให้เป็นร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านกาแฟบรรยากาศน่านั่งริมน้ำ หรือแม้แต่โรงแรม โฮสเทลที่ตกแต่งอย่างมีสไตล์ ใครที่คิดจะแวะมาเยือนชุนชนริมน้ำจันทบูรแค่แป๊บ ๆ บอกไว้เลยว่า เป็นความคิดที่พลาดมาก เพราะที่นี่มีรายละเอียดให้ละเลียดเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทั้งแบบดูด้วยตา สัมผัสด้วยใจ ซึมซาบด้วยความรู้สึก ไปจนถึงลิ้มรสชาติด้วยลิ้นทั้งขนม เครื่องดื่ม ไปจนถึงมื้อหนัก ๆ เลยทีเดียว

3. พิพิธภัณฑ์-ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี

หลายคนมาจันทบุรี อาจจะคิดถึงแค่ ตรอกค้าพลอย หรือ ตรอกกระจ่าง ที่อยู่บริเวณริมน้ำจันทบูร ซึ่งก็ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งเช่นกัน แต่อาจจะเหมาะกับระดับพ่อค้าพลอยมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป ยิ่งใครสนใจจะซื้อเครื่องประดับพลอยฝีมือช่างเมืองจันท์ด้วยแล้ว ต้องแวะไปพิพิธภัณฑ์-ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ที่จัดสร้างไว้ในเมืองที่ไม่ไกลจากตรอกค้าพลอยเท่าไรนัก ที่นั่นน่าจะมีเรื่องราวของพลอยและชิ้นงานเครื่องประดับสำเร็จรูปที่นักท่องเที่ยวขาช้อปถูกใจมากกว่าแน่นอน ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอัญมณี และเครื่องประดับของประเทศไทย ที่จัดแสดงให้เห็นตั้งแต่แหล่งกำเนิดของพลอยสีที่เคยมีแหล่งขุดพบอยู่มากในเขตจังหวัดจัทบุรี จัดแสดงให้เห็นขั้นตอนการผลิตอัญมณี เช่น การเผา การเจียระไน การนำพลอยมาแปรรูปออกแบบเป็นเครื่องประดับ ตลอดจนวิธีการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้ได้มาตรฐาน  ทางการตั้งใจให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางการค้าและส่งเสริมธุรกิจอัญมณี และเครื่องประดับของประเทศไทย พื้นที่โดยรอบอาคาร จึงจัดแต่งให้มีภูมิทัศน์สวยงามด้วยสวนพันธุ์ไม้ต่างๆ ประดับด้วยงานประติมากรรมไว้อย่างสวยงาม เพื่อการต้อนรับนักท่องเที่ยว และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้ที่มาเยี่ยมชม ภายในพิพิธภัณฑ์อัญมณี ก็ไม่ได้จัดแสดงแบบนิทรรศการเดิม ๆ แต่นำเสนอแบบ Live Museum จัดแสดงและสาธิต การผลิตและเจียระไนพลอยที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีห้องวีดีทัศน์ 3D ที่ทันสมัยที่เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการทำพลอย การขุดพลอย การเผา และการเจียระไน รวมทั้งมี Gem Bank ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี และสถานที่จัดแสดงสินค้าและนิทรรศการต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่สำคัญ มีเครื่องประดับจากพลอยนานาชนิดให้ช้อปกลับบ้านแบบละลานตาแบบไม่จำกัดราคาอีกด้วย

4. บ่อพลอยเหล็กเพชร

“บ่อพลอยเหล็กเพชร” อยู่ในพื้นที่รอยต่อของตำบลบางกะจะ และตำบลสีพยา จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแหล่งแร่ และยังคงหลงเหลือคนทำเหมืองพลอยให้เห็น พิเศษตรงที่ บ่อพลอยเหล็กเพชร เป็นแหล่งขุดพลอยที่ทำต่อเนื่องกันมาถึงคนรุ่นที่ 4 ของตระกูล โดยยังคงรักษาการทำบ่อพลอยแบบโบราณ ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมไปจนถึงสร้างประสบการณ์ตรงให้กับตัวเองได้ด้วยการลงมือทำเหมืองพลอยด้วยตัวเอง ซึ่งทางเหมืองมีชุด อุปกรณ์ขุดพลอย ไปจนถึงห้องอาบน้ำไว้ให้บริการครบครัน ถ้าใครโชคดีขุดเจอพลอย เจ้าของพร้อมจะเอาพลอยที่เจียระไนแล้วมาแลกอีกด้วยนะ ที่สำคัญถึงจะบอกว่าเป็นเหมืองพลอยก็อย่าคิดว่าที่นี่นี่จะเละเทะมีแต่อิฐ หิน ดิน ทราย เพราะเจ้าของเลือกที่จะทำสวนผลไม้ควบคู่ไปกับการทำเหมืองแบบวิธีของจันทบุรีแบบโบราณที่ยึดอาชีพทำสวนผลไม้ควบคู่กันไปด้วย ฉะนั้น ถ้าใครบังเอิญมาเที่ยวในช่วงฤดูผลไม้ นอกจากได้มาขุดพลอย ก็จะได้ทั้งชมสวนและชิมผลไม้เมืองจันท์ ที่มีทั้ง ทุเรียน มังคุด ลองกอง พร้อมเรียนรู้การเก็บผลไม้ในรูปแบบของวิถีเกษตรกรเมืองจันท์ไปพร้อมกันอีกด้วย 

แต่ถ้าใครแค่อยากจะมาเยี่ยมชมกรรมวิธีการขุดพลอยแบบโบราณให้เห็นกับตา ไม่พร้อมจะขุดด้วยตัวเอง ก็ยังสามารถเลือกซื้อพลอยแท้ๆ ที่นี่ก็มีจำหน่ายในราคายุติธรรม

บ่อ หรือ หลุม ภายในบ่อพลอยเหล็กเพชร ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เปิดประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยว แต่ละหลุมมีขนาดลึกตั้งแต่ 1 เมตร ไปจนถึง 10 เมตร เริ่มแรกผู้ขุดจะต้องลงไปขุดโกยดินจากก้นบ่อขึ้นมา นำไปใส่ถังก่อนนำไปร่อนบนตะแกรงหาพลอย กระซิบเลยว่า ใครที่ยอมใช้เวลากับการขุดพลอยด้วยมือตัวเองที่นี่แล้วล่ะก็ ไม่เพียงแต่ได้สัมผัสแหล่งเรียนรู้กรรมวิธีขุดพลอยแบบโบราณ แต่คุณยังได้ขุด ร่อน ฉีด หาพลอยด้วยตัวเอง ในบ่อพลอยแบบโบราณที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในเมืองไทย  

ต่อจากจันท์ไปเข้าเขตสุดปลายคมขวานที่จังหวัดตราด

5. เกาะหมาก

ทำไมเป็นเกาะหมาก? ตอบแบบรวบรัดได้ใจความก็คือ เพราะที่นี่มีจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร และมีวิถีการท่องเที่ยวที่กำหนดขึ้นมาเฉพาะแบบที่ไม่มีใครเหมือนเพื่อพัฒนาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอีกด้วย

เสน่ห์ของเกาะหมากที่นักท่องเที่ยวจะสัมผัสได้เมื่อแรกเห็น คือ ทิวมะพร้าวเรียงรายตามแนวหาดขาวเนียนละเอียดเคียงข้างน้ำทะเลใส ที่สามารถลงเล่นได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณอ่าวนิด อ่าวไผ่ อ่าวโปร่ง อ่าวผาด อ่าวแดง ทิวมะพร้าวจำนวนมากนี่เอง ที่เป็นที่มาของชื่อเกาะหมาก ซึ่งหมายถึง หมากพร้าว หรือมะพร้าวตามคำโบราณเรียกนั่นเอง นอกจากนี้บนเกาะยังมีวิถีชาวบ้านอันสงบ เรียบง่าย ซึ่งยังคงดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม เช่น ทำสวนยางพารา ประมงพื้นบ้าน อีกทั้งบริเวณชายฝั่งรอบเกาะ และเกาะใกล้เคียงยังมีแนวปะการังที่สมบูรณ์ เกาะหมากจึงเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาดำน้ำชมปะการังน้ำตื้นด้วยเช่นกัน

6. พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก

พิพิธภัณฑ์เกาะหมากเป็นอาคารไม้ สีขาว สองชั้น ตั้งอยู่ที่อ่าวนิด เป็นของตระกูลสุทธิธนกูล ภายในจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตและข้าวของเครื่องใช้ของชาวเกาะหมากในอดีต จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวเกาะหมากและขนบนิยมในท้องถิ่นซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปหัตถกรรม อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชน ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะหมาก นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย

จากการบอกเล่าของ คุณธานินทร์ สุทธิธนกุล ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เกาะหมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในทายาทของ 5 ตระกูลใหญ่ที่สืบสายมาจากต้นตระกูลเดียวกัน และยังคงครอบครองที่ดินบนเกาะหมากรวมกันจำนวน 90% ถึงปัจจุบัน เขาเล่าว่า ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้เพื่อให้คนรู้ที่มาขอเกาะหมากนั่นเอง ในบรรดาหมู่เกาะทะเลตะวันออกที่รู้จักกันในอาณาบริเวณของหมู่เกาะช้างและเกาะรอบ ๆ นั้น เกาะหมากถือว่ามีตำนานการท่องเที่ยวยาวนาน ที่มีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวถึงเกาะ ก่อนที่จะมีแผนที่เกาะหมากปรากฏอยู่บนแผนที่โลกด้วยซ้ำ โดยเริ่มมีชาวเยอรมนีเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มแรก ที่เข้ามาเที่ยวเกาะมากเมื่อ พ.ศ. 2510 ชาวต่างชาติกลุ่มแรก ๆ เริ่มเข้ามาจากการชักชวนของลูกหลานของ 5 ตระกูลใหญ่ที่เริ่มไปเรียนในต่างประเทศ จากนั้นก็เกิดการบอกต่อถึงดินแดนที่เปรียบเหมือนสวรรค์ของชาวตะวันตกที่ล้อมรอบด้วยทะเลสวย แสงแดด และหาดทราย ที่ทำให้ผู้มาเยือนมีผิวสีแทนกลับไปโดดเด่นอยู่ในประเทศบ้านเกิด ทั้งที่ในยุคแรกนั้นแม้จะมีเรือยนต์จากฝั่งแล่นมาถึงเกาะหมาก แต่ก็ต้องใช้เวลาเดินถึง 7 ชั่วโมง “เรือยนต์ลำแรกที่แล่นมาที่เกาะหมากคือเรือของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนี แรกๆ ที่มาเกาะหมากไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีเบียร์เย็น ๆ ทุกครั้งที่พวกเขามากันก็จะบ่นเรื่องนี้ แต่ก็จะกลับมาใหม่ทุกปีและมีคนมาเพิ่มขึ้น มีครั้งหนึ่งคุณพ่อผมถึงกับต้องนั่งเรือไปฝั่งเพื่อซื้อเบียร์มาให้” คุณธานินทร์เล่า ก่อนจะเปิดเผยถึงที่มาที่ทำให้ ต้นตระกูลของพวกเขาคุ้นเคยกับการดูแลนักท่องเที่ยวว่า เป็นเพราะต้นตระกูลของเขาซึ่งสืบเชื้อสายไปไกลถึงเจ้าจอมในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลอภิบาลพระโอรสธิดา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ด้วยแล้ว รุ่นต่อ ๆ มายังมีหน้าที่ดูแลข้าราชบริพารนักร้อยที่ตามเสด็จพระมหากษัตริย์เวลาเสด็จประพาสต้นด้วย ทำให้คุ้นเคยกับการจัดเตรียมและดูแลทั้งด้านที่พักและอาหาร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของบริการด้านการท่องเที่ยวดี ๆ นี่เอง “ต้นตระกูลเราเริ่มมาจับจองที่ดินบนเกาะหวาย ใกล้ ๆ กับช่วงที่มีการเลิกทาส เจ้านายเลือกมาอยู่ที่เกาะหวาย ส่วนคนงานก็เลือกไปอยู่ตามเกาะต่าง ๆ เหตุผลที่เลือกเกาะหวายเพราะต้นตระกูลมีเชื้อสายจีน ก่อนจะเลือกที่อยู่ก็ให้ซินแสมาดู ก็พบว่ารูปร่างของเกาะหวายคล้ายมังกรอยู่แล้วจะเจริญ ก็เลยลงหลักปักฐานที่นี่ แต่ในแง่ของการตั้งถิ่นฐาน ตอนนั้นนิยมทำเกษตรแล้วเกาะหมากเป็นเกาะที่เป็นพื้นที่ราบเหมาะกับการทำเกษตร ก็เหมาะสม” ด้วยความที่เริ่มต้นจากการถือครองโดยคนไม่กี่ตระกูลทำให้ช่วงเริ่มต้นของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเกาะหมากเป็นเกาะส่วนตัว แม้ว่าปัจจุบันผู้คนบนเกาะนี้ส่วนใหญ่จะสืบเชื้อสายมาจาก 5 ตระกูลนี้ก็ตาม และนั่นอาจจะเป็นอีกเหตุที่สร้างความแตกต่างด้านการท่องเที่ยวให้กับเกาะหมากจากการมีชุมชนที่เข้มแข็งสามัคคี และพร้อมจะลงมติเพื่อเลือกแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในแบบของตัวเอง รวมทั้งเป็นสาเหตุให้เกาะหมากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดตราดที่คงความเป็นธรรมชาติแทบไม่ต่างจากเดิม และมุ่งมั่นที่จะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เน้นกอบโกยจากการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากเกินกว่าจำนวนที่ศักยภาพของเกาะจะรับไหว ถึงขั้นมีการทำเป็น “ธรรมนูญเกาะหมาก” ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันทั้งฝ่ายชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ขึ้นเพื่อร่วมกันปฏิบัติตาม

สาระสำคัญของธรรมนูญเกาะหมาก เน้นความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ “เกาะหมาก โลว์คาร์บอน เดสติเนชั่น” เพื่อให้ทราบโดยทั่วกันทั้งในและนอกพื้นที่ในการกำหนดการใช้ชีวิตของชาวเกาะหมากและนักท่องเที่ยวให้เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและการลดโลกร้อนอย่างจริงจัง 8 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ไม่สนับสนุนให้นำรถยนต์ของนักท่องเที่ยวข้ามมายังเกาะหมาก

2. รถจักรยานยนต์ให้เช่าต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของจำนวนห้องพักบนเกาะหมาก

3. ไม่ใช่กล่องโฟมหรือวัสดุที่ก่อให้เกิดมลพิษสำหรับใส่อาหาร

4. ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ของเหลือรับประทานลงในที่สาธารณะและแหล่งน้ำโดยเด็ดขาด

5. ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมีที่มีสารตกค้างสูง

6. ห้ามส่งเสียงดัง หรือกระทำการที่เป็นการรบกวน หรือสร้างความเดือดร้อนในเวลา 22.00-07.00 น.

7. ไม่สนับสนุนกีฬาทางบกและทางทะเลที่ใช้เครื่องยนต์

8. ห้ามนำ ห้ามเสพ ห้ามจำหน่ายสารเสพติดผิดกฎหมายทุกชนิดบนเกาะ

7. พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด

พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด จัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตคนเมืองตราด และเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำเมือง โดยใช้อาคารศาลากลางจังหวัดหลังเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมอาณานิคม สร้างเป็นเรือนไม้ เสาปูน ยกพื้นใต้ถุนสูง หลังคาทรงปั้นหยา เมื่อปี พ.ศ.2547 อาคารถูกไฟไหม้เสียหาย เทศบาลเมืองตราดจึงจัดสรรงบประมาณให้กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคารตามรูปแบบเดิมและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมีห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร ด้วยรูปแบบทันสมัย แบ่งออกเป็น 6 หัวข้อ ประกอบด้วย

1. มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมเมืองตราด จัดแสดงเรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของจังหวัดตราด

2. ผู้คนเมืองตราด จัดแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดตราด อาทิ ไทย จีน เขมร ญวน ชอง

3) ลำดับทางโบราณคดีและประวัติเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดตราดตั้งแต่สมัยก่อน ประวัติศาสตร์ ต้นสมัยประวัติศาสตร์ สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์(สมัยรัชกาลที่ 1-4)

4. เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรื่องการส่งมอบเมืองตราดคืนจากฝรั่งเศส การพระราชทานพระแสงราชศาสตราประจำเมือง และการเสด็จประพาสเมืองตราด

5. เหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง จัดแสดงเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ยุทธนาวี โดยจำลองห้องจัดแสดงเป็นเรือรบ

6. ตลาดเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวการค้าในตลาดเก่าและสภาพปัจจุบันของตลาดเมืองตราด

8. ชุมชนท่าระแนะ

บ้านท่าระแนะในสมัยก่อนอยู่ในตำบลแหลมหิน มีพื้นที่เป็นอ่าวเล็กๆ กำบังคลื่นลมทะเลได้ดี จึงเหมาะสำหรับจอดเรือหาปลาและเรือสินค้าจากเมืองอื่นๆ รวมทั้งเรือสินค้าหรือเรือใบสามารถเข้ามาจอดพักที่ท่าได้ เรือบางลำชำรุดต้องจอดซ่อมแซม บางลำก็จอดทิ้งไว้นานเข้ากงเรือจะผุพังไปคงเหลือแต่ระแนะ หรือ ท้องเรือ ซึ่งเป็นส่วนที่ยึดระหว่างกงเรือกับกระดูกงู ที่ยาวตามลำเรือ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ท่าระแนะ” จนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน ท่าระแนะ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงนิเวศในรูปแบบใหม่ที่นำเอาระบบการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนอย่างยั่งยืน มีกิจกรรมตามวิถีชาวบ้านหลากหลายที่รอให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น การทำมัดย้อมผ้าตะบูน นั่งเรือ ชมมหัศจรรย์ป่าชายเลน ชิมและทำอาหารและขนมพื้นบ้าน ซึ่งนอกจากอาหารทะเล พืชพื้นบ้าน ยังมีสมุนไพรขึ้นชื่ออย่าง ชาร้อยรู ที่ว่ากันดื่มหนึ่งแก้วอายุยืนร้อยปี และเมนูเด็ดที่ควรลองให้รู้ว่ามาถึงถิ่นป่าชายเลนจริง ๆ ก็ต้องหาโอกาสชิม เกสรต้นลำพู ใบโกงกาง ชุบแป้งทอด แต่ถ้าใครไม่ถนัดดื่มชาให้ลองถามหามะพร้าวน้ำหอม รสชาติน้ำมะพร้าวของที่นี่จัดจ้านเพราะได้น้ำกร่อยของป่าชายเลนที่กินแล้วจะต้องติดใจ

ไฮไลต์ของที่นี่ อยู่ที่ลานตะบูนที่มีกินบริเวณกว้าง จากต้นตะบูนซึ่งเป็นไม้หลักอย่างหนึ่งของป่าชายเลนท่าระแนะที่มีอายุกว่า 100 ปี ระหว่างทางนั่งเรือเพื่อเข้าไปชมก็จะได้เห็นบรรยากาศคลองนับหลายสิบที่เต็มไปด้วยพืชป่าชายเลนหลากหลายชนิด เรือเหล่านี้เป็นของชาวบ้านในชุมชนที่จัดมาไว้คอยให้บริการนักท่อเที่ยว ซึ่งชาวบ้านบางส่วนยังมีบริการโฮมสเตย์ให้กับนักท่องเที่ยวที่อยากมาพักค้างในพื้นที่ ส่วนการล่องเรือเลือกได้เลยว่าจะไปลานตะบูน ล่องชมป่าชายเลน ล่องชมปากอ่าว หรือวนดูวิธีชีวิตชุมชนประมงพื้นบ้านริมน้ำ หรือจะเหมาให้ครบทั้งหมดเพื่อสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบ 360 องศาก็เลือกได้ทุกรูปแบบ ท่องเที่ยวจันทบุรี และท่องเที่ยวตราด ที่คัดสรรมาให้เปิดประสบการณ์เมืองรองรอบนี้ รับรองได้ว่า แม้จะดูเหมือนน้อยที่ แต่ถ้าจัดเต็มแบบไปสัมผัสให้เข้าถึงความเป็นท้องถิ่นแท้ๆ บอกเลยว่าให้เวลา 3 วันเต็มก็อาจจะมีใครร้องขอเวลาเพิ่มแน่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.